ช่างตัดเสื้อแสนสุข

ชุดนักเรียนถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของกลุ่มเด็กพลัดถิ่นชาวเมียนมา ที่อพยพหนีภัยเข้ามายังประเทศไทย เพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขามี สถานะเป็นนักเรียนและมี สิทธิเข้ารับการศึกษา ตำรวจจึงไม่มีสิทธิจับกุมพวกเขา

ในปี 2551 มูลนิธิช่วยไร้พรมแดนริเริ่มโครงการช่างตัดเสื้อแสนสุข (The Happy Tailor) โดยจัดกิจกรรมฝึกสอนการตัดเย็บผ้าเพื่อสร้างงานและรายได้ให้กับหญิงสาวชาวเมียนมาที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย เพื่อตัดเย็บชุดนักเรียน ชุดกีฬา และชุดอื่นๆ ให้แก่คุณครูและนักเรียนของศูนย์การเรียนรู้แสงแห่งความหวัง (Rays of Hope School)  ต่อมาโครงการนี้เติบโตเป็นกิจการเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมอบโอกาสให้ผู้อพยพชาวเมียนมาได้พัฒนาทักษะการตัดเย็บผ้าเพื่อสร้างรายได้และประกอบเป็นอาชีพที่ดี สุจริตและถูกต้องตามกฏหมาย ผู้อพยพทั้งเด็กและผู้ใหญ่สามารถเข้าร่วมฝึกอบรมโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เจ้าหน้าที่โครงการจัดกิจกรรมฝึกอบรมเป็นประจำ อีกทั้งยังจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือสำหรับปักโลโก้ที่ทันสมัย และออกแบบงานเย็บปักด้วยด้ายกว่า 12 สี โครงการฝึกสอนตัดเย็บผ้าขยายสายการผลิตอย่างรวดเร็ว โดยเริ่มจากการตัดชุดนักเรียน ไปจนถึงเครื่องแบบสำหรับบุคลากรในโรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม ร้านอาหาร โรงงานอุตสาหกรรม สมาคมกีฬา และองค์กรต่างๆ ในประเทศไทย รวมทั้งกระเป๋าสะพาย ชุดออกกำลังกาย เสื้อแจ๊คเก็ต กางเกงขายาว กระโปรง เสื้อยืด ผ้าปูที่นอน ผ้าม่าน และเครื่องแต่งกายประเภทอื่นๆ ตามความต้องการของผู้บริจาค นอกจากนี้ยังสามารถผลิตกล่อง กระเป๋าถือ กระเป๋าเงิน และสร้อยข้อมือเพื่อส่งขายในตลาดทั้งในประเทศไทย อิตาลี และเมียนมา อีกด้วย นับตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน โครงการนี้ผลิตชุดนักเรียนมาทั้งสิ้น 52,000 ชุด กระเป๋าโรงเรียน 10,000 ใบ และเครื่องประดับกว่า 3,000 ชิ้น รายได้ทั้งหมดจากการขายสินค้าจะถูกจัดเก็บเป็นเงินส่วนกลางของโครงการ นอกจากนี้องค์กรภาคี อาทิ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Mitigation: IOM) ได้เข้าใช้พื้นที่โครงการในการจัดกิจกรรมฝึกสอนตัดเย็บผ้าให้แก่สตรีและเด็กสาวผู้อพยพเพื่อเสริมสร้างทักษะในการหารายได้ต่อไปในอนาคต